Sunday, November 1, 2015

"ไครโอนิกส์" มาแรง ลูกสาวส่งศพแม่แช่แข็ง รอวันฟื้นคืนชีพ





         ไครโอนิกส์ เทคโนโลยีแช่แข็งมนุษย์รอ วันฟื้นคืนชีพกำลังมาแรง นักเขียนหญิงผู้ล่วงลับในวัย 61 ปี ศพแรกของจีนที่ถูกส่งแช่แข็ง พร้อมการคาดการณ์ ตลาดไครโอนิกส์ในจีนน่าจะไปได้สวย จากความเชื่อและวัฒนธรรมของผู้คนที่สนใจเรื่องอายุยืนยาวเป็นทุนเดิม

          คนไทยได้รู้จักเทคโนโลยีไครโอนิกส์เป็นครั้งแรกจากกรณีของน้องไอนส์ ร่าง ของเด็กหญิงที่ผู้เป็นพ่อและแม่ตัดสินใจส่งไปแช่แข็ง ด้วยหวังว่าเทคโนโลยีที่จะพัฒนาก้าวหน้ามากขึ้นในอนาคต จะมีหนทางทำให้เด็กหญิงที่ถูกแช่เย็นไว้ด้วยไนโตรเจนเหลวสามารถฟื้นขึ้นมามี ชีวิตได้อีกครั้ง และในตอนนี้ ที่ประเทศจีนก็มีกรณีการเก็บรักษาร่างเพื่อรอการฟื้นคืนชีพขึ้นใหม่เกิดขึ้น เป็นรายแรกแล้วด้วยเช่นกัน คือร่างของ "ตู้ หง" นักเขียนวรรณกรรมเยาวชนชาวจีน ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับอ่อน ในวัย 61 ปี

          เว็บไซต์เซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ เผยเรื่องของนางตู้ ในรายงานเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2558 และยังมีสื่อจีนอื่น ๆ อีกหลายสำนักที่นำเสนอกรณีดังกล่าวกันครึกโครม นับได้ว่าเป็นเรื่องการทำไครโอนิกส์ร่างของนางตู้สร้างความสนใจและเป็นที่ ฮือฮาแก่ชาวแดนมังกรเป็นอย่างยิ่ง 


          จาง ซี่หยง ลูกสาวของนางตู้ หง ได้ติดต่อกับ Alcor Life Extension Foundation ผู้ให้บริการทำไครโอนิกส์จากสหรัฐอเมริกาไว้แล้วล่วงหน้า เมื่อนางตู้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2558 แพทย์ 2 รายจาก Alcor ที่เดินทางมารอก่อนแล้ว ก็เข้ามาดำเนินการเก็บรักษาร่างของนางตู้ทันที ด้วยการแทนที่เลือดในร่างกายด้วยของเหลวพิเศษที่ไม่แข็งตัวในอุณหภูมิต่ำ เพื่อป้องกันเนื้อเยื่อร่างกายถูกทำลาย

          "แม่จ๋ารู้อะไรไหม ถ้ามันเป็นจริงได้ บางทีตอนเราพบกันใหม่แม่อาจอายุน้อยกว่าหนูก็ได้ แล้วถึงตอนนั้นแม่คงต้องเป็นคนดูแลหนูนะ" นางจางเอ่ยกับแม่ของเธอที่เตียงคนไข้ ในวาระสุดท้ายของชีวิต 
หลังจากนั้นร่างของนางตู้ก็ถูกส่งต่อไปที่วำนักงานใหญ่ของบริษัท ในเมืองสกอตเดล รัฐแอริโซนา สหรัฐฯ ที่ซึ่งศีรษะของเธอถูกแยกออกจากร่าง และเก็บรักษาไว้ภายใต้อุณหภูมิเย็นจัด ติดลบ 196 องศาเซลเซียส  



          เหตุที่ร่างของนางตู้ถูกเก็บรักษาไว้เฉพาะส่วนศีรษะ เป็นเพราะค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาทั้งร่างกายนั้นสูงถึง 2 ล้านหยวน (ประมาณ 10.6 ล้านบาท) แต่กำลังทรัพย์ของฝ่ายลูกสาวนั้นมีจำกัด จึงเลือกที่จะเก็บรักษาเฉพาะส่วนศีรษะแทน ซึ่งมีค่าใช้จ่าย 750,000 หยวน (3.9 ล้านบาท) ส่วนร่างกายของนางตู้ ทางครอบครัวตัดสินใจบริจาคเพื่อใช้ในการศึกษาทดลองทางวิทยาศาสตร์


        ลูกเขยของนางตู้ เผยว่า แม่ยายของเขาเคยกล่าวว่า ไม่ว่าในอีก 50 ปีข้างหน้า การทำไครโอนิกส์จะช่วยชุบชีวิตคนได้จริงหรือไม่ เธอก็ไม่รังเกียจที่ร่างตัวเองจะถูกใช้เพื่อศึกษาทดลอง

          นอกจากบริษัท Alcor แล้ว ผู้ให้บริการไครโอนิกส์เจ้าอื่น ๆ ในสหรัฐฯ และรัสเซีย ก็มีที่ท่าสนใจเข้ามาตีตลาดเทคโนโลยีชุบชีวิตหลังความตายในประเทศจีนเป็น อย่างมาก โดยระบุว่า ชาวจีน "เปิดใจกว้างมาก" กับเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากรัฐบาลจีน อันดำรงอยู่ภายใต้หลักศาสนา ไม่มีนโยบายต่อต้านหรือกีดกันเทคโนโลยีอันฝืนกฎธรรมชาติเช่นนี้ ขณะที่อีกส่วนมาจากนโยบายในปัจจุบันของจีน ที่บังคับการเผาศพ ทำให้ผู้มีฐานะในจีนเริ่มมองหาที่ทางที่จะทำพิธีศพของผู้เป็นที่รักในต่าง ประเทศ เพื่อที่จะสามารถเก็บรักษาร่างของศพไว้ได้ และตามประเพณีความเชื่อของชาวจีน ก็นิยมฝังร่างผู้ตายทั้งร่าง แล้วเผากระดาษแทนเงินทองไปให้ หวังให้ผู้ตายได้มีชีวิตที่ดีในอีกภพภูมิหนึ่ง


         ศาสตราจารย์หวง เว่ย นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเสฉวน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ชาวจีนมีความสนใจเรื่องการเก็บรักษาศพและการมีอายุยืนยาวมานานแล้ว ไครโอนิกส์จึงกลายเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจอย่างมาก สำหรับผู้มีกำลังทรัพย์มากพอ

          แต่ถึงอย่างนั้น นักวิทยาศาสตร์กระแสหลักของจีนก็ยังไม่เชื่อมั่นในการทำไครโอนิกส์เท่าใดนัก

          "ไม่มีเทคโนโลยีใด  ๆที่รักษาอวัยวะมนุษย์ได้เป็นเวลายาวนานขนาดนั้น และนี่คือเหตุผลว่าทำไมการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะระหว่างผู้ให้และผู้รับบริจาค จึงต้องรีบทำอย่างเร่งด่วน...ถ้าเรายังทำไครโอนิกส์กับอวัยวะไม่ได้ แล้วเราจะหวังถึงการเก็บรักษาแล้วฟื้นคืนชีพให้ศีรษะหรือร่างทั้งร่างได้ อย่างไรกัน" ศาสตราจารย์เจิ้ง ซ่งอี่ ผู้อำนวยการศูนย์ China Centre for Type Culture Collection มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น กล่าว 



ภาพจาก ctrip, tupian.baike
http://hilight.kapook.com/view/128531

No comments:

Post a Comment